พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรคนายก

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรคนายก

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรคนายก ตั้งอยู่ที่ตำบลวังไม้ขอน หลังวัดสวรรคาราม หรือ วัดกลาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมรดกของพระสวรรควรนายก (ทองคำ จิตรธร) เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม ท่านเจ้าคุณสวรรควรนายกเป็นผู้ที่สะสมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ท่านได้ดำรงชีวิตอยู่ได้แสดงเจตนาไว้ว่า หากมรณภาพแล้ว ให้ยกทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาติ โดยให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นในวัดสวรรคาราม ภายหลังจากที่พระสวรรควรนายกได้มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2508 คณะกรรมการวัดและบรรดาสานุศิษย์ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับศิลปโบราณวัตถุเหล่านี้ เนื่องจากไม่พบพินัยกรรมมอบหมายให้ผู้ใดดำเนินการไว้แต่อย่างใด ดังนั้น คณะกรรมการวัดจึงได้ตกลงมอบให้กรมศิลปากร โดยมีเงื่อนไขว่า กรมศิลปากรจะต้องสร้างพิพิธภัณฑสถานขึ้นในเขตของวัดสวรรคารามตามประสงค์ของพระสวรรควรนายก กรมศิลปากรจึงได้ตั้งงบประมาณสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และได้รับอนุมัติงบประมาณให้สร้างอาคาร เป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนบาท

การจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก แบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 เรื่อง คือ พัฒนาการเครื่องถ้วยสุโขทัย และ พุทธประติมากรรมในศิลปะสมัยต่างๆ โดยจัดแสดงแนวเรื่องทั้งสองผ่านศิลปวัตถุที่นำเสนอในชั้นล่างและชั้นสองของอาคาร

ชั้นล่าง
จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของเครื่องถ้วยสุโขทัย โดยมีศิลปวัตถุที่เป็น เครื่องถ้วยที่ได้จากการรวบรวมของพระสวรรควรนายก เครื่องถ้วยที่กรมศิลปากรได้จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี บริเวณเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเครื่องถ้วยที่กรมศิลปากรได้จากแหล่งเรืออับปางในอ่าวไทย คือ บริเวณเกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
การจัดแสดงในส่วนนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เรื่องเครื่องถ้วยสังคโลก หรือเครื่องถ้วยสุโขทัย

ชั้นสอง

จัดแสดงเรื่องพุทธประติมากรรมในศิลปะต่างๆ โดยเน้นศิลปะสุโขทัยเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุที่พระสวรรควรนายกเก็บรวบรวมไว้ และบางส่วนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ซึ่งจำแนกกลุ่มพระพุทธรูปที่จัดแสดงได้ตามช่วงระยะเวลา และรูปแบบของศิลปะดังนี้
1.อิทธิพลเขมร ก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18
2.ศิลปะล้านนา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-22
3.ศิลปะสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
4. ศิลปะอู่ทอง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19
5. ศิลปะอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-23
6. ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 24-25

เวลาเปิดทำการ เปิดบริการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
ปิด วันจันทร์ถึงวันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม
ชาวไทย 10 บาท
ชาวต่างประเทศ 30 บาท
ยกเว้นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร

[mappress mapid=”829″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *