พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนเขาค้อ ริมทางหลวงหมายเลข 2196 อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเขาค้อไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก อยู่ติดถนนด้านขวามือ เป็นเจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปให้ประชาชนได้สักการะบูชา ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอัฐธาตุของพระพุทธเจ้า ที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้กับประชาชนในพื้นที่ หลังจากยุติการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ใน ประเทศไทย
ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งพระธาตุของพระอริยสาวก ในสถูปศิลาขนาดเล็ก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และหนึ่งในจำนวนของสถูปศิลาที่ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพะราชทานพรบรมสารีริกธาตุแก่ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ เพื่อให้อัญเชิญไปประดิษฐานประจำสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม บ้านเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ พื้นที่เขาค้อแห่งนี้ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบ ระหว่างคนไทยด้วยกันเองมานาน จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อจำนวนมาก ยังเศร้าโศกเสียใจให้กับคนไทยทั้งชาติ และเมื่อการสู้รบยุติลง ความสงบสุขร่มเย็นก็เริ่มบังเกิดขึ้น ราษฎรในพื้นที่ได้รับการส่งเสริม ให้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีการพัฒนาอาชีพทางการเกษตร ราษฏรในพื้นที่เขาค้อ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ และที่สำคัญราษฎรมีความรัก และหวงแหนในแผ่นดิน ที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ และหยาดน้ำตาของทหารหาญและพี่น้องคนไทยจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้กับ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ เพื่อให้นำไปประดิษฐาน ณ พื้นที่เขาค้อนี้ให้เป็นที่เคารพสักการะ และนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่ราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ให้ร่วมมือร่วมใจพัฒนาชาติไทย ให้วัฒนาสถาพร ดังนั้น จึงได้มีพระบรมสารีริกธาตุให้ราษฎรในพื้นที่เขาค้อ และใกล้เคียงได้เคารพสักการะ ณ สำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม บ้านเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยลึก หลังสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม ได้กราบบังคมทูลว่ามีเศรษฐีนีท่านหนึ่ง มีความประสงค์จะขอสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสกับ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ ว่าควรจะให้คนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกว่า
พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ขณะนั้น) ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานการสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ และการจัดสร้างวัตถุมงคล และทรงตอบรับเชิญ เป็นองค์ประธานในการก่อสร้าง และทรงเป็นองค์ประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2542
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อว่า “พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก” เมื่อ 27 มิถุนายน 2539
แนวคิดในการออกแบบ ให้มีเอกลักษณ์ทางศิลปพุทธสถานทางภาคเหนือ เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย และรัตนโกสินทร์ประยุกต์ รูปแบบขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่ผังของฐานด้านล่างเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง ฐานชั้นบนมีผังเป็น 8 เหลี่ยม อันเป็นลักษณะที่มีการใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยทวาราวดี องค์พระบรมธาตุเจดีย์มีความสูง 69 หลา หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 69 พรรษา ฐานเจดีย์กว้าง 39 หลา หมายถึงปีพุทธศักราช 2539
ลักษณะรูปแบบในส่วนของรูปด้านบริเวณฐานชั้นล่างและฐานชั้นบนยึดขยายยกสูง ขึ้น และได้มีการนำลักษณะแบบอย่างการใช้ซุ้มคูหามาประดับเข้า 4 ด้าน ซึ่งในการประดับด้วยซุ้มคูหานี้ตามหลักฐานปรากฏว่า มีการใช้มาตั้งแต่ครั้งสมัยทวาราวดี บริเวณฐานชั้นล่างนี้มีซุ้มคูหา 4 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ และบริเวณฐาน 8 เหลี่ยม ตอนบนมีซุ้มคูหาขนาดใหญ่ และเล็กสลับกัน ซึ่งซุ้มคูหาขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ
[mappress mapid=”542″]