วัดวัง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง เป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญคู่กับเมืองพัทลุงมาตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุงมาแล้วในอดีต จนกระทั่งทางราชการได้ยกเลิกพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และได้มีการย้ายเมืองพัทลุงจากตำบลลำปำไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์คือที่ตั้งเมืองปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ วัดวังเป็นวัดที่มีศิลปกรรมควรแก่การศึกษาค้นคว้ามากมาย เช่น อุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน มีระเบียงคดล้อมรอบ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวน ๔ องค์ (พระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน ๑๐๘ องค์) ฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เขียนภาพจิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นการเล่าเรื่องพระพุทธประวัติและเทพชุมนุม นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๒ องค์ ธรรมาสน์จำหลักไม้ของรัชกาลที่ ๖ มีอักษรจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ ข้อความว่า “ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ. ๒๔๕๓”
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ๒ ครั้ง ครั้งแรกขึ้นทะเบียนโดยมิได้กำหนดแนวเขต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ ครั้งที่ ๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๘ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หน้า ๑๕๑ (ฉบับพิเศษ) พื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ๑ งาน ๔๖ ตารางวา
[mappress mapid=”1596″]