สถานที่ตั้ง บ้านดงแม่นางเมือง ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติความเป็นมา
ดงแม่นางเมืองหรือธานยบุรี เป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง เป็นบ้านเมืองมาแต่สมัยทวารวดี จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และอาจจะร้างไปก่อนตั้ง อาณาจักรสุโขทัยก็ได้ เพราะจากการสำรวจของกองโบราณคดี กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ไม่พบวัตถุสมัยสุโขทัย หลังจากการขุดสำรวจ ได้มีการให้คำแนะนำแนวทางการบูรณะ ไว้ด้วย แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในระยะต่อมา
ลักษณะทั่วไป
เมืองร้างดงแม่นางเมือง เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมมน ขนาดประมาณ ๕๐๐ x ๖๐๐ เมตรลักษณะผังเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๒ ชั้น ตั้งอยู่ในระหว่างแม่น้ำใหญ่ ๒ สาย ซึ่งไม่ห่างไกลกันนัก คือทางตะวันตกมีแม่น้ำปิง ทางตะวันออกมีแม่น้ำเชิงไกร ซึ่งไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน และอยู่เหนือบริเวณปากน้ำโพขึ้นไปราว ๕๐ กิโลเมตร
ซากโบราณสถานในดงแม่นางเมือง มักมีรากฐานจมอยู่ใต้ดิน ไม่เป็นโคกมูลกองอิฐสูง ๆ อย่างเมืองร้างบางแห่ง ปัจจุบันซากเจดีย์และโบราณสถานถูกทำลายไปมากเพราะมีการลักลอบขุดบ้างและใช้พื้นที่ทำไร่นาบ้าง
หลักฐานที่พบ
มีโบราณสถานในพุทธศาสนา ขุดพบโครงกระดูกคนซึ่งยังไม่ถูกเผา และบางโครงมีลักษณะคล้ายถูกพันธนาการ แปลกกว่าแห่งอื่นจากการสำรวจและขุดค้นเมืองโบราณดงแม่นางเมือง ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยกรมศิลปากร ได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ จำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปหินทรายแบบทวารวดีตอนปลาย พระพิมพ์ดินเผาแบบลพบุรี ตลับสังคโลกปูนปั้นประดับโบราณสถาน ศิลาจารึก และจากการสำรวจของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ ได้พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินชนวนสลักแบบนูนต่ำ ลักษณะพระพักตร์เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดดงแม่นางเมืองหลักฐานที่พบส่วนใหญ่ กำหนดอายุอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลาย ที่สำคัญ จารึกที่พบยังระบุศักราชตรงกับพ.ศ. ๑๗๑๐
เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ
จากตลาดเมืองใหม่ อำเภอบรรพตพิสัย ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ไปตามทางหลวงจังหวัด บรรพตพิสัย-หนองตางู ระยะทางประมาณ ๘ กม. เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกจากถนนใหญ่อีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ถึงวัดดงแม่นางเมือง ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนเข้า หมู่บ้าน
[mappress mapid=”1976″]