ตามเส้นทางสายพัฒนานิคม-วังม่วง ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี และสระบุรี เป็นแหล่งปลูกทานตะวันแหล่งใหญ่ของไทย มีการทำไร่ทานตะวันกันมากมายหลายราย มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 50 ไร่ 70 ไร่ ไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่ มีพื้นที่เป็น 1000 ไร่ ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ดอกทานตะวัน ในแปลงปลูกแต่ละแปลงจะได้เวลาบานพร้อมกัน แลสะพรั่งไปด้วยสีเหลืองของดอกทานตะวัน เหลืองอร่ามไปทั้งทุ่งกว้างไกลสุดสายตา สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชม
ทานตะวันเป็นพืชตระกูลถั่ว ประเภทเดียวกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง บัวตอง เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจรองจากถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ทานตะวันค่อนข้างทนแล้งได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และถั่วเขียว เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่วนกากที่ได้หลังจากสกัดน้ำมันแล้วมีโปรตีน 40-50 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม และมีสาร antioxidants กันหืนได้ดีสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น เนื่องจากน้ำมันทานตะวันมีคุณค่าสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อการบริโภค และใช้ในอุตสาหกรรมเช่น น้ำมันชักเงา น้ำมันหล่อลื่น สีทาบ้าน ส่วนลำต้นทานตะวันสามารถนำไปทำกระดาษคุณภาพดี
เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกหรือหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป ดอกทานตะวันจะบานและให้เมล็ดเมื่ออายุครบ ๕๕-๖๐ วัน และจะบานสวยงามเต็มที่ประมาณ ๑๕ วัน หลังจากนั้นเกษตรกรจะปล่อยให้เมล็ดทานตะวันแห้งคาต้น แล้วจึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต
[mappress mapid=”1020″]