วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๖ ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค ๖
วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เดิมเป็นวัดไทยใหญ่ มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย คือประมาณ 800 ปี เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศิลปะศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบพม่า จึงถูกเรียกขานว่าเป็น วัดเงี้ยว แต่ชื่อที่ชาวเชียงรายรู้จักกันแพร่หลายคือ วัดจ๊างมูบ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า วัดช้างหมอบ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของคนโบราณ วัดนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช แห่งราชอาณาจักรล้านนา องค์มหาราชลำดับที่ ๒ ของประวัติศาสตร์ไทย กล่าวคือ ในพิธีการเคลื่อนขบวนแห่พระแก้วมรกตออกทักษิณาวรรต รอบเมืองเชียงรายทางสถลมารค ในวันสำคัญทางประเพณี เช่น วันสงกรานต์ หรือ ปีใหม่เมือง จะมีการจัดเตรียมสถานที่ให้พญาช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชมาหมอบรอเทียบที่วัด เทินบุษบกเพื่อรับพระแก้วมรกต ที่แห่มาด้วยขบวนเสลี่ยง จากวัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือ 200 เมตร
ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์โบราณศิลปะไทยใหญ่ พระอุโบสถและพระวิหารไม้ลายคำศิลปะล้าน ของวัดมิ่งเมืองอย่างถูกต้องตามหลักพุทธศิลป์ล้านนาและทัศนศิลป์เชิงโบราณคดี ระหว่างการบูรณะได้ขุดค้นพบลายอักษรโบราณจารึกบนแผ่นเงินเป็นภาษาพม่า กล่าวถึงประวัติผู้สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสืบค้นจากพงศาวดาร จึงทำให้ทราบว่า ผู้สร้างวัดมิ่งเมือง คือ เจ้านางตะละแม่ศรี เป็นมเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชซึ่งพระนางมีเชื้อสายกษัตริย์จากเมืองหงสาวดี
ในวัดมิ่งเมืองยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่หลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะผสมระหว่างพม่าและล้านนา และมีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ พระเจดีย์โบราณ ที่ได้รับการประธานจาก สมเด็จพระญาณสังวรณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดมิ่งเมืองอยู่ติดสถานที่สำคัญทางโบราณคดีของจังหวัดเชียงราย เป็นประตูเมืองเก่าของเมืองเชียงราย คือ ประตูไก่ดำ หรือประตูขัวดำ หรือประตูเจ้าพ่อสันป่าแดง ซึ่งคนเชียงรายเรียกยังคงเรียกบริเวณสี่แยกที่ถนนบรรพปราการตัดกับถนนไตรรัตน์ว่า สี่แยกขัวดำ ที่บริเวณประตูวัดด้านทิศตะวันออก มีบ่อน้ำโบราณ ชื่อ น้ำบ่อจ๊างมูบ ศิลปะแบบไทยใหญ่ มีซุ้มครอบไว้เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบ เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของผู้คนโบราณที่สัญจรเข้าออกเมือง ได้มาพักกายบริเวณประตูเมืองเพื่อดื่มน้ำและล้างหน้าให้เกิดสิริมงคลก่อนจะเริ่มเดินทางออกหรือเข้าสู่เมืองเชียงราย
[mappress mapid=”665″]