สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

ประวัติสะพานไม้แกดำ

บ้านแกดำ ตำบลแกดำ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มานาน จากหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นลักษณะเนินดินสูง น้ำท่วมไม่ถึง มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้หมู่บ้าน ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลและเรืองอำนาจของขอม ดังจะเห็นจากการก่อสร้างปราสาทหิน กู่ต่างๆในบริเวณใกล้เคียง
….ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2338ได้มีการอพยพของชาวบ้านเมืองทุ่งหรือท่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวมีบรรพบุรุษอพยพมาจากนครจำปาศักดิ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้มาก่อตั้งหมู่บ้านแกดำขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์มีเนินดินสูงและมีแหล่งน้ำด้านทิศตะวันออกของหมูบ้านมีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะของหมู่บ้านครั้งแรกคือ ” บ้านสะแกดำ “ ซึ่งมีต้นสะแกมีลักษณะลำต้นและใบสีดำเกิดจากสีของครั่งต่อมาเสียง “ สะแกดำ ” ได้หายไปจนกลายเป็น “ บ้านแกดำ ´´ จนถึงปัจจุบัน

: ตามที่หลวงปู่จ้อยได้นำผู้คนอพยพจากเมืองสุวรรณภูมิ มณทลร้อยเอ็ดเพื่อหาถิ่นฐานใหม่ที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งรกราก สร้างหมู่บ้านใหม่ที่บ้านแกดำ บนเนินดินข้างหนองน้ำ ฝั่งทิศตะวันตก หนองน้ำนี้มาจากน้ำซึ่งเป็นลำห้วยเรื่อยมาจากห้วยเสือโก้ก อ.วาปีปทุม ผ่านห้วยวังเลิง ก่อนลงมาเป็นหนองน้ำเล็ก ๆ พอได้ใช้ดื่มกินของชาวบ้าน แล้วลำห้วยนี้จะผ่านไปห้วยวังแสง กุดตาหลุง ไหลลงแม่น้ำชีที่อำเภอเมืองมหาสารคาม
ในหนองน้ำนี้มีกลุ่มต้นสะแก (ภาษาอีสานเรียกว่า “ต้นแก” ) ที่มีความแปลกกว่าแห่งอื่น ๆ คือมีสีดำ ทั้งต้นทั้งใบ จึงนำลักษณะเด่นนี้มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ว่า “หมู่บ้านแกดำ” รวมทั้งหนองน้ำ ว่า “หนองแกดำ” ต่อมาเมื่อชาวบ้านขยายที่ทำมาหากินไปด้านฝั่งทิศตะวันออกของหนองน้ำ รวมทั้งมีการตั้งหมู่บ้านใหม่ ของลูกหลานเครือญาติ เรียก “บ้านน้อย” ซึ่งต่อมา คือ “บ้านหัวขัว” จึงจะต้องมีการสร้างสะพานข้ามลำห้วย เรียก “ขัวใหญ่” ถือว่าเป็นสะพานชุดแรก
ความต่อเนื่อง
: ปี พ.ศ. 2496 กรมชลประทานมาสร้างฝายน้ำล้น ทำให้น้ำขังท่วมทางเดินตลอดแนว ชาวบ้านจึงขอบริจาคไม้เพื่อทำสะพาน เป็นสะพานไม้เรียงตามความยาว หัวไม้เกยกัน ยังไม่มีตะปูตอก บางช่วงมีแผ่นเดียวบ้าง บางช่วงมีสองแผ่นคู่กันบ้าง พอเดินผ่านไปทำนาและติดต่อหากัน ชาวบ้านเรียก ”ขัวต่องแต่ง“ จึงนับว่าเป็นสะพานชุดที่สอง และถือว่าเป็นสะพานที่ใช้ข้ามตลอดแนวหนองน้ำ
ต่อมาปี 2507 ฝนตกหนักน้ำท่วมหลาก คันดินรับน้ำไม่ไหว ขาดทะลัก 3 จุด บริเวณใกล้วัดโพธิ์ศรีแกดำ ตรงกลาง และท้ายคันดิน น้ำไม่เหลือแห้งขอด กรมชลประทานถมคันดินซ่อมแซมเป็นการด่วน
ปี 2509 มีโรงเรียนเอกชน (โรงเรียนราษฎร์) ตั้งขึ้นที่ฝั่งบ้านหัวขัว แล้วหนองน้ำก็มีน้ำอีกครั้ง ผู้จัดการโรงเรียนได้ขอบริจาคไม้จากชาวบ้านและผู้ปกครอง ทำเป็นสะพานแนวขวางมีเสาคู่ และไม้คอเสา ซึ่งเป็นจุดเริ่มแรกของสะพานชุดปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ คุณพ่อครูกรณ์ อนุอัน ผู้จัดการโรงเรียนแกดำอนุสรณ์ ก็พยายามก่อสร้างเพิ่มเติม ซ่อมแซมปรับปรุงเรื่อยมาเพื่อให้นักเรียนได้เดินข้ามไปเรียนหนังสือ ก็เลยเป็นที่เข้าใจ
ของชาวบ้านว่าสะพานไม้กับโรงเรียนพัฒนามาคู่กัน
จนปี พ.ศ.2520 มีการตั้งกิ่งอำเภอแกดำ โดยมีนายสมาน วงศ์แก้ว เป็นปลัดหัวหน้ากิ่งอำเภอคนแรก ช่วงนี้มีการปรับปรุงสะพานให้มีมาตรฐาน แต่ยังเป็นรูปแบบเดิม
ข้อมูลล่าสุด สะพานไม้มีความยาวเกือบ 600 เมตร กว้าง 1.30 เมตร ใช้ไม้แป้นปู 2,538 แผ่น เสา 488 ต้น

[mappress mapid=”288″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *