พระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่อดีต ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรี ในท้องที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ด้านทิศตะวันตก บริเวณศูนย์กลางเมืองโบราณสุพรรณบุรี ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ภายในวัดประกอบไปด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ อุโบสถ วิหารน้อย และซากเจดีย์รายจำนวน 2 องค์ บริเวณด้านทิศตะวันตกของพระปรางค์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ภายในวิหารด้านหน้าพระปรางค์ ลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของพระปรางค์ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ก่อด้วยอิฐสอดิน ผิวด้านนอกฉาบปูนส่วนฐานทำเป็นชุดฐานบัวลูกฟัก สี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น รองรับองค์เรือนธาตุ ลักษณะมุมมีมุมประธานซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่กลาง มุมย่อยซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่กลาง มุมย่อยซึ่งมีขนาดเล็กกว่าขนาบทั้งสองข้าง
องค์เรือนธาตุสอบโค้งเข้าหาส่วนบน ย่อมุมรับกับส่วนฐาน มีมุมซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน เฉพาะด้านทิศตะวันออกทำเป็นคูหา ประดิษฐานพระปรางค์จำลอง ผนังห้องคูหาทั้ง 3 ด้านฉาบปูนเรียบ เพดานบุด้วยแผ่นไม้กระดาน และมีบันไดขึ้นสู่คูหาเพียงด้านเดียว หน้าบันเรือนธาตุทำเป็นซุ้มลดซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏรูปเทพพนมระหว่างมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปอุบะและกลีบบัว อันเป็นแบบประเพณีนิยมสมัยอยุธยาตอนต้นสามารถเปรียบเทียบได้กับชั้นบัวรัดเกล้าที่พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหนือขึ้นไปเป็นชั้นเชิงบาตรครุฑแบก ยักษ์แบก แต่ปัจจุบันปรากฏเพียงปูนปั้นรูปยักษ์บริเวณมุมย่อยเท่านั้น นอกจากนี้บริเวณหน้ากระดานของวิมานชั้นแรกยังปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปหงส์ รูปใบไม้ ในกระจกอีกด้วย ส่วนยอดพระปรางค์ประกอบด้วยชั้นวิมานจำลองซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น สอบโค้งเข้าหาปลาย บริเวณมุมและด้านประดับด้วยกลีบขนุนและซุ้มบันแถลง ยอดพระปรางค์ประดังด้วยนภศูล
เมื่อ พ.ศ. 2456 ในคราวขุดกรุพระปรางค์วัดนี้ได้พบจารึกลานทองหลายลานด้วยกัน ที่สำคัญคือ จารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ทรงสร้างและทรงซ่อมพระปรางค์องค์ดังกล่าวไว้ด้วย (จารึกหลักที่ 47) ) ซึ่งอายุของจารึกลานทองแผ่นนี้ นักภาษาโบราณหลายท่าน ( ก่องแก้ว วีรประจักษ์, เทิม มีเต็ม , อุไรศรี วรศะริน ) ให้ความเห็นว่า อักษรในจารึกลานทองแผ่นนี้เป็นรูปอักษรในราวพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เมื่อพิจารณาตามข้อความในจารึกและพระนามพระมหากษัตริย์แล้วจะเห็นว่าเป็นพระนามกษัตริย์ในสมัยอยุธยา ขัดกันกับรูปอักษรมาก ในขณะที่พิจารณาทางรูปแบบศิลปกรรมศิลปกรรมขององค์ปรางค์ก็เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา จึงมีทางเป็นไปได้ว่า จารึกลานทอง หลักที่ 47 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้เป็นจารึกที่สร้างขึ้นใหม่ โดยใช้อักษรข้อความลอกเลียนแบบจารึกของเดิมซึ่งชำรุด
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๓ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้ดำเนินงานขุดค้นบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พบว่าบริเวณดังกล่าวนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗
[mappress mapid=”75″]