แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1914-2310 ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุน จึงเรียก “เตาประทุน” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ปล่องไฟ ห้องวางเครื่องปั้นดินเผา และห้องเชื้อเพลิง ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่ขุดได้บริเวณแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สามารถชมได้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิคอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
[mappress mapid=”957″]