อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพป่าและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามและจุดชมวิวที่สามารถชมบรรยากาศอันร่มรื่น โดยเฉพาะบริเวณห้วยน้ำดัง ที่มีชื่อว่าทะเลหมอกที่งดงามยิ่ง มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังมียอดดอยที่มีธรรมชาติงดงามอีกหลายแห่ง เช่น ดอยช้าง ดอยสามหมื่น รวมทั้งมีโป่งเดือดซึ่งเป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติ ส่วนการล่องแพในลำน้ำแม่แต่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและหุบเขาสลับกัน เป็นแนวยาวขนานกันในแนวเหนือ-ใต้ของเทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาผีปันน้ำ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีที่มีการแทรกดันของหินหนืด และแรงบีบอัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้พื้นผิวโก่งงอกลายเป็นภูเขาและเทือกเขา และมีหุบเขาที่เกิดจากรอยเลื่อนที่ทรุดต่ำลง รวมทั้งได้มีการสึกกร่อนที่เกิดจากกระบวนการทางฟิสิกส์และทางเคมี ตลอดจนการทับถมของตะกอนน้ำพาทำให้เกิดเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างภูเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-1,962 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำแตงและแม่น้ำปาย จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำตั้งแต่ชั้น A ถึงชั้น 1A มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ได้แก่ ห้วยเหี้ยะ ห้วยแม่ยะ ห้วยฮ่อม ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่สลาหลวง ห้วยโป่ง น้ำงุม ห้วยแม่แพลม ห้วยงู ห้วยแม่เย็นหลวง ห้วยน้อย ห้วยฮ่อม ห้วยหก ห้วยแม่ฮี้ ห้วยขาน ห้วยแม่ปิง ห้วยแม่จอกหลวง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศโดยทั่วไปเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 8 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังคาบเกี่ยวพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ป่าอยู่ในเขตมรสุม กล่าวคือ พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมสะวันตกเฉียงเหนือนอกจากนั้นยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมพายุไซโคลน ด้วยจึงทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดูดังนี้
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 24 องศาเซลเซียสและ ต่ำสุดประมาณ 10 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,134 มิลลิเมตร ทิศทางลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้
ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 20 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส ทิศทางลมมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 12 องศาเซลเซียส ทิศทางลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังสภาพทางธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดสังคมพืชหลากหลายชนิด ประกอบด้วย
ป่าดิบชื้น ขึ้นปกคลุมสองฝั่งของลำน้ำในพื้นที่ที่มีความสูง 500-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เติม อวบดำ หว้า งิ้วป่า ปอตูบหูช้าง ผ่าเสี้ยน มันปลา เปล้าใหญ่ ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ เอื้องหมายนา มันดง ม้าสามต๋อน เฒ่าหลังลาย หญ้าถอดบ้อง ตองกง เครือออน กลอย สายหยุด หัสคุณ ออสมันด้า และ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น
ป่าดิบเขา พบในพื้นที่ทีเป็นหุบเขาและพื้นที่ลาดชันที่สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้างสูงตลอดปี ในระดับความสูง 1,650-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อกระดุม ก่อแดง สนสามใบ เม็ดชุนตัวผู้ ช้าส้าน มะมือ ก่วม เต้าหลวง จำปีหลวง มณฑาป่า เหมือดดง เดื่อปล้องหิน ตะไคร้ต้น สารภีป่า กำลังเสือโคร่ง กะทัง ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่าง ได้แก่ กล้วย ต่างไก่ป่า พลูช้าง พญาดง หญ้าคมบาง ตองกง พริกไทย ดาดตะกั่ว และกาหลา เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างที่ระดับความสูงต่ำกว่า 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กาสามปีก กุ๊ก แคหัวหมู แดง ตะคร้ำ ประดู่ มะเกลือ มะกอก ตังหน ชิงชัน โมก ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ คนทา คัดเค้าเครือ เฒ่าหลังลาย เต่าร้าง ผักแว่น สะบ้าลิง สาบเสือ บุก ลิเภา ชายผ้าสีดา เกล็ดปลา หญ้าขัด และพ่อค้าตีเมีย เป็นต้น ป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง เหียง พลวง รัง รกฟ้า พะยอม ตีนนก ติ้วขน สมอไทย ส้านใหญ่ มะขามป้อม ยอป่า แสลงใจ เค็ด ฯลฯ ไม้พุ่มและไม้พื้นล่าง ได้แก่ กะตังใบ โสมชบา กระมอบ หนาดคำ ตาฉี่เคย ข้าวสารป่า และยาบขี่ไก่ เป็นต้น
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า หมีควาย เก้ง กระจงเล็ก เลียงผา หมูป่า แมวดาว ชะมดเช็ด ลิงวอก ชะนีมือขาว พังพอน เม่นใหญ่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าสีเงิน นกเขาเปล้า นกขุนทอง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกปรอดคอลาย เหยี่ยวต่างสี กะท่าง เต่าปูลู เต่าใบไม้ ก้งก่าแก้ว แย้ ตะกวด งูเหลือม งูเขียวดอกหมาก งูเห่า กบทูด ปาด เขียดป่าไผ่ และอึ่งลาย เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ พบปลาจาด ปลามอน ปลาเลียหิน ปลาเวียน ปลาค้อ ปลาค้างคาว ปลาติดหิน และปลาก้าง เป็นต้น
[mappress mapid=”621″]