อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

พระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เดิมพระบรมรูป “สามกษัตริย์” หล่อด้วยทองเหลืองและทองแดงรมดำ มีขนาดเท่าครึ่ง จากพระบาทถึงพระเศียรไม่รวมยอดมงกุฏ มีความสูง ๒๗๐ เมตร ออกแบบและทำการ ปั้นหล่อโดยคุณไข่มุกด์ ชูโต ใช้เวลา ๑๐ เดือน ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ สามกษัตริย์ จากกรุงเทพมหานครขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรม ราชานุสาวรีย์ ในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๑๑.๔๙ น. พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือ พญามังราย พญาร่วง และพญางำเมือง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พระมหากษัตริย์สาม พระองค์มาทรงร่วมกันวางแผนการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏคำจารึกฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ กล่าวคือพญามังรายประสูติ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๗๘๒ พระองค์ทรงครองเมืองเงินยางเชียงแสนแทนพญาลาวเม็ง พระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ ทรงพระปรีชาสามารถกล้าหาญเป็นเยี่ยมสามารถ รวบรวมแคว้นและเมืองต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทย และได้ทรงตรากฏหมาย “มังรายศาสตร์” ขึ้นเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยมีพระราชวงศ์สืบ ต่อกันมาอีก ๑๗ พระองค์ พญามังรายสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๐ สิริพระชนมายุได้ ๗๙ ชันษา

พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงพระบรมเดชานุภาพมากเมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ได้กระทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้า เมืองฉอด ปรากฏพระเกียรติยศไพศาลเป็นที่คร้ามเกรงแก่บรรดาหัวเมืองต่างๆ สมัยนั้น พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณา ประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้า และได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ ซึ่งใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทรงครองราชย์เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๒๒ และสิ้นพระชนม์เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๔๒

พญางำเมือง ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ. ๑๗๘๑ ทรงปกครองเมืองพะเยาสืบต่อจากพญามิ่งเมืองพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๑ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาศิลปวิทยาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกับพญามังราย จึงเป็นพระสหายสนิทแต่นั้นมา พระองค์ทรงอานุภาพเสมอ เท่าเทียมกันในการปกครองบ้านเมืองนั้น ได้ทรงใช้วิเทโศบายผูกมิตรไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง บ้านเมืองจึงร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

พระราชาธิราชทั้งสามพระองค์ ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตรทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตร น้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา

เมื่อพญามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองฝางและตีได้เมืองหริภุญไชยจากพญายีบาได้สร้าง เวียงกุมกาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็นศุภนิมิตรมงคล ๗ ประการ เป็นที่ราบริมน้ำปิงกับ ดอยสุเทพ พญามังรายจึงได้เชิญพระสหาย คือ พญาร่วงและพญางำเมืองมาร่วมปรึกษาหารือ ตั้งพิธีกัลปบาตฝังนิมิตหลักเมือง ในวัน พฤหัสบดี เพ็ญเดือน ๖ พ.ศ. ๑๘๓๙ จันทร์เสวยฤกษ์ ๑๖ ยามแตรจักใกล้รุ่งไว้ลัคนาเมืองในราศรีมินอาโปธาตุ สร้างเสร็จในปีเดียวกันขนานเมือง ใหม่นี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เมืองเชียงใหม่”

[mappress mapid=”625″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *