ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารปูนสามชั้นโดยชั้นแรกเป็นส่วนของสำนักงานส่วนชั้นสองและสามเป็นส่วนของการจัดแสดงโดยมีบันได
ขึ้นทางด้านหน้าไปยังชั้นสอง
การจัดแสดงภายใน :
การจัดแสดงนิทรรศการภายในศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย ประกอบด้วย
1. ห้องชมวิดีทัศน์ เป็นห้องฉายวิดีทัศน์นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติเมืองเลย และแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเลย ภายในจัดแสดงภูมิปัญญาผ้าไทเลย จัดแสดงผ้าทอมือ พื้นเมืองไทเลย ทั้งผ้าโบราณและผ้าประยุกต์ที่ประชาชนในจังหวัดร่วมกันบริจาค เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2547 และมีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมสมัย ประกอบด้วย มุมแพทย์แผนไทย มุมอาหารพื้นบ้าน และมุมการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท มีบริการยืมหนังสือและซีดี
2. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อยู่ชั้น 2 ของอาคาร เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตามเทศกาลและเหตุการณ์ตามวันและประเพณีที่สำคัญ แสดงแผนที่การท่องเที่ยวในจังหวัดเลย นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตชาวเลยในอดีต แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต
พระพุทธรูเก่าแก่ รูปจำลองพระธาตุศรีสองรัก รูปจำลองอาคารศูนย์วัฒนธรรม
3. ห้องเบิ่งเมืองเลย เป็นห้องแสดงนิทรรศการถาวรของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย ประกอบด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ประวัติการตั้งเมืองเลย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่
ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า ” เมืองเลย”
– แสดงเรื่อง ไดโนเสาร์ ที่พบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งนักธรณีวิทยา สันนิษฐานว่า อยู่ในยุคครีเทเซียตอนต้น(ประมาณ 120 ล้านปี) จัดแสดงโดยภาพวาดประกอบคำบรรยาย
– แสดงเครื่องมือโบราณ ได้แก่เครื่องมือหินในยุคต่างๆ
– แหล่งแร่ที่ค้นพบในบริเวณจังหวัดเลย ได้แก่ แร่ทองคำ แร่ทองแดง ตะกั่ว พลวง แกรไฟต์ และอื่นๆ
3.2 มุมชาติพันธุ์ จัดแสดงภาพของชาวไทเลยเผ่าต่างๆ ประวัติความเป็นมาการดำรงชีวิต การสร้างที่อยู่อาศัย ประเพณีและความเชื่อ จัดแสดงโดยภาพ หุ่นจำลอง ประกอบคำบรรยาย ซึ่งมีเผ่าที่สำคัญได้แก่
– ชาวไทยดำ อพยพมาจากบริเวณเมืองแถง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2467 และมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ซึ่งไทดำมีการละเล่นคือ การเล่นแซปาง
– ชาวไทพวนอพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
– ชาวไทไต้ได้อพยพจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเลยส่วนใหญ่มาจาก จังหวัดกาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ยโสธร โดยได้อพยพเข้ามาเมื่อปีพุทธศักราช 2506 และมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในปีพุทธศักราช 2508 จะพบชาวไทไต้จำนวนมากที่กิ่งอำเภอเอราวัณ
– ชาวไทเลย อพยพมาจากทางตอนเหนือของอาณาจักรสุโขทัย สืบเชื้อสายมาจาก หลวงพระบาง ตั้งเมืองเซไล เขตอำเภอวังสะพุงพ.ศ. 2396 ต่อมาอพยพมาตั้งบริเวณบ้านแฮ่ อำเภอเมืองเลย พิธีกรรมที่สำคัญของชาวไทเลยคือ พิธีเสียเคราะห์
3.3 แสดงเครื่องแต่งกายของชาวไทเลย จัดแสดงโดยหุ่นจำลองประกอบคำอธิบาย
3.4 แสดงวิถีชีวิตชาวไทเลย แสดงโดยหุ่นจำลองบ้านเรือนและคำบรรยาย
3.5 แสดงศิลาจารึกวัดห้วยห่าว ศิลาจารึกวัดศรีสองรัก
3.6 จัดแสดงเรื่องปูชณียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทย-ลาว คือ พระธาตุศรีสองรัก
3.7 จัดแสดงเรื่อง วรรณกรรมใบลาน
3.8 จัดแสดงเรื่องบายศรีสู่ขวัญ กระทงบูชาพระธาตุศรีสองรัก และการแต่งกายผีตาโขน
3.9 จัดแสดงเรื่องราวและประวัติของบุคคลสำคัญของเมืองเลย ได้แก่
– หลวงปู่แหวน สุจินโน -หลวงปู่หลุย จันทสาโร
– หลวงปู่ชอบ ฐานสโม -หลวงปู่ศรีจันทร์ วณนาโก
– นายสาร สาระทัศนานันท์ -พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
– นายคำป่วน สุวงษา -อาจารย์สังคม ทองมี
4. อาคารแพทย์แผนไทย อยู่บริเวณข้างอาคารศูนย์วัฒนธรรมด้านทิศใต้ เป็นสถานที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่ต่อไป
5. ห้องสมุดวัฒนธรรม อยู่ชั้น 1 ของอาคาร มีหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้บริการค้นคว้า
และยืมได้
6. ห้องสำนักงานสำนักศิลปะและวัฒนธรรม อยู่ชั้น 1 ของอาคาร เป็นสำนักงาน เพื่อให้บริการติดต่อประสานงานและการศึกษาค้นคว้า
[mappress mapid=”491″]