วัดร่องขุ่น

วัดร่องขุ่น

วัดร่องขุ่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก3 สิ่งต่อไปนี้คือ 1. ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน 2. ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา 3. พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนั้นอาจารย์จึงได้สร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน โดยปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้บริจาคทรัพย์สินส่วนตัว และคุณวันชัย วิชญชาคร เป็นผู้บริจาคที่ดินประมาณ 7 ไร่เศษ รวมเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ และมีพระกิตติพงษ์ กัลยาโณ รักษาการเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ลักษณะเด่นของวัด คือพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกแวววาววิจิตรงดงามแปลกตา บนปูนปั้นเป็นลายไทย โดยเฉพาะภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก เหนืออุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง ความหมายของอุโบสถ สีขาวของโบสถ์แทนพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า กระจกขาวหมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์และจักรวาล สะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็กหมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามาร หรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป บนสันของสะพานจะประกอบไปด้วยอสูรอมกัน 16 ตัว ข้างละ 8 ตัว อุปกิเลส 16 จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมระ เป็นที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึง สันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้นด้วยกัน ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่แผ่นดินของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอก รอบอุโบสถ ดอกที่ใหญ่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชา ก่อนขึ้นบันได ครึ่งวงกลม หมายถึง โลกุตตรปัญญา บันไดทางขึ้น 3 ขั้น แทนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านแล้วจึงขึ้นไปสู่แผ่นดินของอรูปพรหม 4 แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 4 ดอก และ บานประตู 4 บาน บานสุดท้ายเป็นกระจกสามเหลี่ยมแทนความว่าง (ความหลุดพ้น) แล้วจึงจะก้าวข้ามธรณีประตูเข้าสู่พุทธภูมิภายในประกอบด้วยภาพเขียนโทนสีทองทั้งหมด ผนัง 4 ด้าน เพดาน และพื้นล้วนเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรม ส่วนบนของหลังคาโบสถ์ ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่าง (ความหลุดพ้น) ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล ประกอบด้วยสัตว์ 4 ชนิดผสมกัน แทน ดิน น้ำ ลม ไฟ ช้าง หมายถึง ดิน, นาค หมายถึง น้ำ, ปีกหงส์ หมายถึง ลม และหน้าอก หมายถึง ไฟ ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา บนหลัง ช่อฟ้าเอกแทนด้วยพระธาตุ หมายถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,4000 พระธรรมขันธ์ ช่อฟ้าชั้นที่ 2 (บน) หมายถึง สมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค หมายถึง ความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์ หมายถึง ความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว (กิเลส) เมื่อใจเราชนะกิเลสได้ก็เกิดสมาธิ มีสติกำหนดรู้เกิดปัญญา ช่อฟ้าชั้นที่ 3 (สูงสุด) หมายถึง ปัญญา แทนด้วยหงส์ปากครุฑ หมอบราบนิ่งสงบไม่ปรารถนาใดๆ มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสภายใน ด้านหลังหางช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึงโพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 ฉัตรหมายถึงพระนิพพานลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา – วัด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.30 – 18.00 น. – ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – ศุกร์ 8.00 – 17.30 น. ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 8.00 – 18.00 น

[mappress mapid=”223″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *