วัดพระพุทธฉายจังหวัดสระบุรี

วัดพระพุทธฉายจังหวัดสระบุรี

ประวัติการค้นพบครั้งแรก : รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระพุทธฉาย ประทับรอยอยู่ในเนื้อหินยอดเขาลม(เขาพระพุทธฉาย) สันนิษฐานว่า มีการค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมณกูฏถูกพระสงฆ์ลังกาถามว่า รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในประเทศไทยคนไทยไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทที่นั่นดอกหรือจึงต้องออกมาบูชาถึงลังกาทวีป พระภิกษุสงฆ์จำนวนนั้นกลับมานำความขึ้นบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดให้มีตราสั่งไปยังหัวเมืองเที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด

เมื่อค้นพบจึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดียสถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และโปรดให้สร้างสังฆารามแล้วทรงพระราชอุทิศที่ส่วนหนึ่งโดยรอบพระพุทธบาทและพระพุทธฉายถวายเป็นพุทธบูชาต่อมาถึงรัชสมัยพระเสือ ราว พ.ศ.๒๒๔๖-๒๒๕๑ ปรากฏว่า ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปโปรดให้เปลี่ยนแปลงเป็นพระมณฑป ๕ ยอด โดยไม่มีผู้ใดซ่อมแซมอีกเลย รวมอายุของพระมณฑปนับจากสมัยพระเจ้าเสือได้ประมาณเกือบ 400ปี

เหตุที่พระมณฑปซึ่งมีอายุเกือบ ๔๐๐ ปี คงสภาพอยู่ได้ก็คงด้วยอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แห่งรอยพระพุทธบาทเป็นแน่แท้ ไม่เช่นนั้นแล้วคงตั้งอยู่ไม่ได้แน่เพราะเหตุมีพายุฝนหลายครั้งหลายหนด้วยกันจนสิ่งปลูกสร้างขึ้นภายหลังยังถูกพายุฝนพัดพังพินาศจนหมดสิ้นคงเหลืออยู่แต่พระมณฑปหลังนี้เท่านั้นเป็นที่อัศจรรย์

ประวัติการค้นพบครั้งหลัง : ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ โดยกรมศิลปากรได้ตั้งงบประมาณเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระมณฑป ๕ ยอดซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปมากตามกาลเวลา และได้เข้าดำเนินการซ่อมแซม เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ การซ่อมแซมดำเนินการมาถึงเดือน สิงหาคม ช่างได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออกไป เพื่อจะทำการซ่อมแซมนั้น ขณะที่เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออกไป และทำการทุบพื้นซีเมนต์เก่า ก็พบว่าภายใต้พื้นปูนซีเมนต์เก่านั้น มีทรายหยาบๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อคุ้ยทรายออกจึงปรากฎเห็น “รอยพระพุทธบาท” เด่นชัด ลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ตรงกลางมีรอยธรรมจักร ถูกต้องตามลักษณะทุกประการ ฯ

[mappress mapid=”1018″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *