อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั่วไป
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 51 เกาะ รวมเนื้อที่ประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร มีเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะด้วยกัน คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี โดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะ ตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี
เกาะตะรุเตา เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ 152.01 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง ยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 708 เมตร ส่วนชายฝั่งทางด้านตะวันออกของเกาะส่วนมากจะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับอ่าวและหาดทรายโคลน ทางด้านตะวันตกจะมีหน้าผาแต่เฉพาะทางด้านเหนือบริเวณแหลมตันหยงมะระ (ด้านหัวเกาะ) มีที่ราบอยู่เป็นหย่อมๆ ทางเทือกเขาหลังอ่าว อ่าวที่สำคัญได้แก่ อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวมะขาม อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวตะโละวาว เป็นต้น อ่าวต่างๆ เหล่านี้มีคลองและลำธารไหล่ผ่านออกสู่ทะเล เกาะตะรุเตาประกอบด้วยหินยุค Lower Paleozoic Rocks ทางด้านฝั่งตะวันตกและใต้ของตัวเกาะ จะเป็นหินทรายสีน้ำตาลแดง มีชั้นของหินดินดานแทรกสลับ ในชุดหิน Tarutao Group มีอายุประมาณมหายุค Cambrian ส่วนทางด้านตะวันออกและเหนือของตัวเกาะจะเป็นหน้าผาสูงชันของพวกหินปูนสีเทา-ดำ มีลักษณะเป็นชั้นๆ ในหินชุด Thung Song Group มีอายุประมาณยุค Ordovician
เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะบาตวง และเกาะหลีเป๊ะ เทือกเขาส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต และมีหิน ควอร์ตไซต์และหินดินดานประกอบอยู่ประปราย เกิดในยุค Cretacious โดยเกาะอาดังมีเนื้อที่ 29.78 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงครอบคลุมเนื้อที่เกือบทั้งหมดของเกาะ ยอดเขาสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 703 เมตร บริเวณโดยรอบริมเกาะเป็นหน้าผาสูงชัน มีที่ราบเฉพาะบริเวณเหนือชายหาดต่างๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับเกาะราวีมีเนื้อที่ 28.44 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 460 เมตร พื้นที่มีความลาดชันสูง มีที่ราบน้อย

ลักษณะภูมิอากาศ
ข้อมูลภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในรอบปีที่ผ่านมา (มกราคม – ธันวาคม 2544) พบว่า ฝนจะตกมากที่สุดในเดือนกันยายน 594 มิลลิเมตร รองลงมาในเดือนตุลาคม 478 มิลลิเมตร และตกน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 15 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 2,908 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 39oC อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 19oC โดยอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนและต่ำสุดในเดือนมิถุนายน ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี เฉพาะบริเวณหมู่เกาะอาดัง – ราวี ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 พฤษภาคม ของทุกปี

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ต.ปากน้ำ อ. ละงู จ. สตูล 91110
โทรศัพท์ 0 7478 3485, โทรสาร 0 7478 3597 อีเมล tarutaosatun.go@hotmail.com

[mappress mapid=”1107″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *